ฉนวนกันความร้อน

ฉนวนกันความร้อน คือ วัตถุที่มีความสามารถในการป้องกัน ไม่ให้ความร้อนถูกส่งผ่านจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งได้ ดังนั้นในการตัดสินใจซื้อบ้าน หรือปรับปรุงต่อเติมบ้านนั้น เราก็ควรจะพิจารณาเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์โดยตรงก็คือ "การประหยัดไฟ" นั่นเอง และด้วยสภาวะอากาศในบ้านเราที่มีความแปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ การตัดสินใจใช้ฉนวนกันความร้อน จึงกลายเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของบ้าน, โรงงาน, สำนักงาน และอาคารโดยทั่วไป


"หลังคาที่ไม่ได้หุ้มฉนวนกันความร้อน เมื่อได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะดูดซับความร้อนกักเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้อุณหภูมิผิวหลังคาสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้อุณหภูมิภายในห้อง หรืออาคารสูงกว่าอุณหภูมิบรรยากาศขณะนั้น"

"การติดฉนวนกันความร้อน จะช่วยป้องกันความร้อนเข้ามายังภายในห้อง เนื่องจากฉนวนกันความร้อน สามารถช่วยหน่วงความร้อนที่จะแผ่เข้าสู่บ้าน หรืออาคารสำนักงาน พร้อมสะท้อนรังสีความร้อนบางส่วนกลับออกไปข้างนอก และไม่เป็นตัวกักเก็บความร้อนไว้"


การเลือกใช้ฉนวนกันความร้อน เราควรพิจารณาจากความสามารถในการป้องกันความร้อน และลักษณะของฉนวนกันความร้อน เช่น ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น หรือแบบม้วน จากนั้นจึงพิจารณาถึงน้ำหนัก และความหนาของวัสดุ ยิ่งฉนวนกันความร้อนมีความหนามากเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งแพงมากขึ้น แต่ก็จะช่วยป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนแบบใดให้เหมาะสมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการแบบของอาคารเป็นสำคัญ


คุณสมบัติของฉนวนกันความร้อนที่ควรพิจารณา

  • ช่วงอุณหภูมิในการใช้งาน ที่ฉนวนกันความร้อนสามารถใช้งานได้ โดยไม่เสื่อมคุณภาพ
  • ค่าการนำความร้อน (Thermal Conductivity) ถ้าค่านี้ยิ่งต่ำ ฉนวนกันความร้อนจะยิ่งมีความสามารถในการลดความสูญเสียพลังงานได้ดีกว่า
  • กำลังการบีบอัด (Compressive Strength) ควรเลือกฉนวนกันความร้อนที่ไม่เสียรูปทรงมาก
  • ความยากง่าย ในการติดไฟของฉนวนกันความร้อน
  • โครงสร้างของเซลล์ จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า ฉนวนกันความร้อน จะดูดความชื้นได้ง่ายมากน้อยเพียงใด
  • รูปร่างรูปทรงของฉนวนกันความร้อน เพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน


ฉนวนกันความร้อนที่ดี มีลักษณะอย่างไร

  • ควรมีน้ำหนักเบา และมีความหนาแน่นน้อยๆ
  • มีค่าการนำความร้อนที่ต่ำ
  • สามารถทนทานต่อแรงดึง และแรงอัดได้ดี
  • มีอัตราการดูดซับความชื้นได้ต่ำมากๆ
  • มีความคงรูป หรือคงตัวสูง
  • ติดไฟยาก
  • มีช่วงอุณหภูมิการใช้งานที่กว้าง
  • ติดตั้งง่าย สะดวก
  • มีราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ง่าย


นอกจากนี้ฉนวนกันความร้อนยังมีทั้งแบบแผ่นสะท้อนความร้อน (Heat reflective sheet) และแบบป้องกันความร้อน (Heat insulator) ซึ่งแต่ละแบบมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • แผ่นสะท้อนความร้อน (Heat reflective sheet)
    • มักทำจากอะลูมินั่มฟอยด์เคลือบอยู่บนฝ้า หรือเป็นแผ่นฟอยด์ใช้สำหรับปูบนโครงหลังคา ฉนวนแบบนี้ทำหน้าที่สะท้อนความร้อนที่ได้รับจากหลังคาได้โดยตรง
  • ฉนวนกันความร้อน (Heat insulator)
    • ทำหน้าที่กันความร้อนใต้โพรงหลังคาที่ยังหลงเหลืออยู่ ไม่ให้เข้าไปในตัวบ้านได้
ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้สูงสุดนั้น อาจจะจำเป็นต้องใช้ทั้งสองแบบประกอบกัน คือ แผ่นสะท้อนความร้อนอะลูมินั่มฟอยด์ (Heat reflective sheet) ปูใต้หลังคา เพื่อสะท้อนความร้อนที่ตกกระทบหลังคาโดยตรงออกไป และใช้ฉนวนกันความร้อน (Heat insulator) ปูเหนือฝ้าเพดานแบบยัดไส้ เพื่อกันความร้อนแผ่ลงมาในตัวบ้าน